การเขียนเรียงความ

ขั้นตอนการเขียนเรียงความ

                                                                  การเรียงความ
 
ความหมายของเรียงความ
 
                เรียงความ เป็นงานเขียน ร้อยแก้ว ชนิดหนึ่งที่ผู้เขียนมุ่งถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้ ความคิด และทัศนคติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ด้วยถ้อยคำสำนวนที่เรียบเรียงอย่างมีลำดับขั้นและสละสลวย

องค์ประกอบของเรียงความ
                มี ๓ ส่วนใหญ่ ๆ คือ
คำนำ
                เป็นส่วนแรกของเรียงความ ทำหน้าที่เปิดประเด็น ดึงดูดความสนใจ พิถีพิถัน คำนึงถึงเรื่องที่ตนจะเขียน เน้นศิลปะในการใช้ภาษา
การเขียนคำนำ ควรยึดแนวทางต่อไปนี้

     § ไม่ยืดยาด เยิ่นเย้อ

     § ไม่ควรกล่าวถึงสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่อง

     § ไม่ควรซ้ำกับส่วนสรุปหรือความลงท้าย

     § อาจหาคำคม สำนวน สุภาษิต หรือบทกวีที่ไพเราะและเกี่ยวกับเนื้อเรื่องมาเป็นคำนำก็ได้

เนื้อเรื่อง

               เป็นส่วนสำคัญและยาวที่สุดของเรียงความ ประกอบด้วย ความรู้ ความคิด และข้อมูลที่ผู้เขียนค้นคว้า และเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ ระเบียบ การเขียนเนื้อเรื่องเป็นการขยายความในประเด็นต่าง ๆ ตามโครงเรื่องที่วางไว้ล่วงหน้าแล้ว ในการเขียนอาจมีการยกตัวอย่าง การอธิบาย การพรรณนา หรือยกโวหารต่าง ๆ มาประกอบด้วย โดยอาจจะมีย่อหน้าหลายย่อหน้าก็ได้

การเขียนเนื้อเรื่องควรยึดแนวทางต่อไปนี้

         § ความถูกต้อง แจ่มแจ้งสมบูรณ์ ผู้อ่านสามารถเข้าใจเจตนารมณ์ของผู้เขียนได้เป็นอย่างดี ซึ่งเรียกว่ามีสารัตถภาพ

        § ใจความสำคัญแต่ละย่อหน้า จะต้องมีเพียงใจความเดียว ไม่ออกนอกเรื่อง สับสน วกวน ซึ่งเรียกว่ามีเอกภาพ

       §  เนื้อหาในแต่ละย่อหน้าจะต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันโดยตลอด ย่อหน้าที่มาหลังจะต้องเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับย่อหน้าที่มาก่อน ซึ่งเรียกว่ามีสัมพันธภาพ

สรุป

             เป็นส่วนสุดท้าย หรือย่อหน้าสุดท้ายในเรียงความแต่ละเรื่อง ผู้เขียนจะทิ้งท้ายให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจ สอดคล้องกับเรื่องที่เขียน กระชับรัดกุม ซึ่งการเขียนสรุปมีหลายวิธี เช่น ฝากข้อคิด และความประทับใจให้ผู้อ่านย้ำความคิดสำคัญของเรื่อง ชักชวนให้ปฏิบัติตาม ให้กำลังใจแก่ผู้อ่าน ตั้งคำถามที่ชวนให้ผผู้อ่านคิดหาคำตอบ และยกคำพูด คำคม สุภาษิต หรือบทกวีที่น่าประทับใจ เป็นต้น การเขียนสรุปควรยึดแนวทางต่อไปนี้

          § เขียนสั้น ๆ ไม่เยิ่นเย้อ (ความยาวควรจะเท่า ๆ กับคำนำ)

          § อาจสรุปโดยการอ้อนวอน เชิญชวนหรือแสดงความคิดเห็น

          § ควรหลีกเลี่ยงคำขออภัย หรือคำออกตัวว่าผู้เขียนไม่มีความรู้

          § ไม่ควรเสนอประเด็นใหม่เข้ามาอีก

ขั้นตอนการเขียนเรียงความ

การเลือกเรื่อง
              หากจะต้องเป็นผู้เลือกเรื่องเองแล้ว ควรเลือกตามความชอบ หรือความถนัดของตนเอง
การค้นคว้าหาข้อมูล
              อาจทำได้โดยการค้นคว้าจากหนังสือ นิตยสาร วารสาร อินเทอร์เน็ต หรือสื่ออื่น

วางโครงเรื่อง
             เมื่อได้หัวข้อเรื่องแล้ว ต้องวางโครงเรื่อง โดยคำนึงถึงการจัดการ จัดลำดับหัวข้อเรื่องที่จะเขียนให้สัมพันธ์ ต่อเนื่องกัน เช่น

1. จัดลำดับหัวข้อตามเวลาที่เกิด

2. จัดลำดับหัวข้อจากหน่วยเล็กไปสู่หน่วยใหญ่

3. จัดลำดับตามความนิยม

                โครงเรื่องของงานเขียนควรจัดหมวดหมู่ของแนวคิดสำคัญเพื่อเป็นแนวทางในการเขียน โครงเรื่องเปรียบเสมือนแปลนบ้าน ผู้สร้างบ้านจะต้องใช้แปลนบ้านเป็นแนวทางในการสร้างบ้าน การเขียนโครงเรื่องจึงมีความสำคัญทำให้ผู้เขียนเรียงความเขียนได้ตรงตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ ถ้าไม่เขียนโครงเรื่องหรือไม่วางโครงเรื่อง เรียงความอาจจะออกมาไม่ตรงตามที่ผู้เขียนต้องการ

การเรียบเรียง
                ตามรูปแบบของเรียงความ ตามองค์ประกอบ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป (บางคนอาจเขียนคำนำหลังสุดก็ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงเนื้อหาที่ซ้ำซ้อน)
ลักษณะของเรียงความที่ดี
              นอกจากต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง ๓ ส่วน คือ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป แล้วยังต้องมีลักษณะดังนี้อีกด้วย
เอกภาพ
              คือ ในแต่ละย่อหน้า ความคิดสำคัญต้องมีเนื้อหาไปในทิศทางเดียวกันกับหัวข้อเรื่อง
สัมพันธภาพ
              คือ ต้องมีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันตลอดทั้งเรื่อง โดยจะต้องมีการวางโครงเรื่องที่ดี จัดลำดับย่อหน้าอย่างมีระบบระเบียบ เรียบเรียงด้วยคำเชื่อมที่เหมาะสม
สารัตถภาพ
              คือ มีเนื้อหาสาระที่สมบูรณ์ตลอดทั้งเรื่องโดยในแต่ละย่อหน้า ประโยคสำคัญต้องชัดเจน ประโยคขยายมีน้ำหนักเชื่อถือได้ ถูกต้องตามข้อเท็จจริง เพื่อช่วยเน้นย้ำให้ประโยคใจความสำคัญมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ตัวอย่างการเขียนเรียงความ

                                                              เรียงความวัน พ่อ

พ่อก่อกำเนิดชีวิตของลูก เมื่อลูกถือกำเนิดเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัว พ่อก็เริ่มเตรียมตัวสร้างอนาคตไว้คอยท่า แต่พ่อก็ยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น พ่อยังสานพัฒนาความเจริญเติบโตทั้งร่างกายและจิตใจตลอดจนสติปัญญา พ่อต้องการให้ลูกเป็นคนดี เป็นคนฉลาด มีความสำเร็จในชีวิต และรอดพ้นจากทุกข์โศกโรคภัย

พ่อต้องมีภาระที่ต้องเตรียมความพร้อมให้แก่ลูก พ่อเติมแต่งให้ลูกได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆอันมีคุณค่า พ่อทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ เพื่อจะได้มีเงินให้ลูกเรียน ให้ลูกได้สบาย ถึงแม้ว่าพ่อจะเหนื่อยกับการหาเงิน แต่พ่อก็มีความสุข เมื่อเห็นลูกรักมีความสุข พ่อเป็นครูคนแรกที่ชี้โลกกว้างและสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก เป็นครูตลอดเวลาและตลอดชีวิต พ่อจะให้ความรัก ความเข้าใจ ความห่วงใยอาทรแก่ลูก โดยยากที่จะหาจากผู้อื่น พ่อเป็นที่ปรึกษาที่ดีที่สุดสำหรับลูก เมื่อใดที่พ่อรู้ว่าลูกมีความทุกข์ พ่อก็พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย พ่อเป็นคนแรกที่เห็นใจและเข้าใจลูก พ่อเป็นผู้ที่คอยให้แสงสว่างแก่ลูกและคอยชี้แนวทางให้แก่ลูก พ่อต้องรับภาระมากมายในการดูแลลูก พ่อเป็นผู้บ่มเพาะคุณธรรม และลักษณะนิสัยที่ดีงามให้แก่ลูกโดยตั้งแต่ยังอ่อนเยาว์ด้วยการสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในบ้านที่มีความแจ่มใส สะอาด มีระเบียบ ลูกเรียนรู้โดยที่พ่อเป็นผู้ช่วย พ่อเปิดโอกาสให้ลูกได้สัมผัส สัมพันธ์ เรียนรู้โดยที่พ่อคอยดูอยู่ห่าง ๆพ่อคอยแนะนำเมื่อลูกสงสัย จัดหาสื่อที่มีคุณภาพ พ่อคอยชี้ทางที่ถูกต้องให้แก่ลูก คอยป้องกันทางเสื่อมและเสี่ยงของชีวิตลูก พ่อคอยบ่มเพาะ ปลูกฝัง ขัดเกลาอบรมบ่มนิสัยของลูกโดยที่พ่อไม่รู้สึกรำคาญหรือเหนื่อยกับการเลี้ยงลูกเลย พ่อยอมทุกอย่างเพื่อให้ลูกได้ดี และประสบความสำเร็จในชีวิต

ถึงแม้ว่าพ่อจะไม่กล่าวคำว่า “ รัก ” ให้ลูกฟังแต่ลูกทราบว่าพ่อรักลูกมาก พ่อเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตลูก พ่อยอมเหนื่อย ยอมเจ็บ ในความคิดของพ่อมีแต่อยากให้ลูกสบาย พ่อจะมีความสุขถ้าลูกมีความสุข พ่อจะมีทุกข์ถ้าลูกมีทุกข์ พ่อมีพระคุณกับลูกมาก ลูกจะไม่มีวันลืมพระคุณของพ่อเลย พ่อคะ ลูกอยากบอกว่า “ ลูกรักพ่อมากค่ะ ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น